ไม่สนโควิด สหราชอาณาจักรออกประท้วงการตายของ จอร์จ ฟลอยด์

ไม่สนโควิด สหราชอาณาจักรออกประท้วงการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ ผู้คนมากหน้าหลายตาออกประท้วงกรณีการเสียชีวิตของชายหนุ่มอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน แม้ทางการเตือนว่าการชุมนุมขนาดใหญ่จะยิ่งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยิ่งแย่เข้าไปอีก
พริตี พาเทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักร ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุมขนาดใหญ่ “เพื่อความปลอดภัยของพวกเราทุกคน” แต่ผู้ชุมนุมประท้วงก็ไม่ใส่ใจคำเตือนนี้
การชุมนุมนี้เริ่มต้นที่สหรัฐฯ หลังนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เสียชีวิตขณะถูกตำรวจเมืองมินนีแอโปลิสจับกุมรุนแรงเมื่อวันที่ 25 พ.ค. โดยวิดีโอบันทึกเหตุการณ์แสดงภาพเขาโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดทับลำคอเขาลงกับพื้นถนน
การประท้วงในสหรัฐฯ รุนแรงจนกลายเป็นการก่อจลาจลในหลายเมือง เกิดเป็นกระแสเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อคนผิวดำ ‘Black Lives Matter’ ไปทั่วโลกก่อนหน้านี้ที่ออสเตรเลีย
มีคนนับหมื่นออกชุมนุมประท้วงที่นครซิดนีย์ บริสเบน เมลเบิร์น โฮบาร์ต แอดิเลด และเมืองอื่น ๆ แม้ว่าจะมีคำเตือนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สถานีรถไฟกลางที่นครซิดนีย์ เกิดการปะทะรุนแรงเล็กน้อยในช่วงค่ำ โดยตำรวจใช้สเปรย์พริกไทยในการควบคุมฝูงชน แต่ตำรวจบอกว่ามีการจับกุมผู้ประท้วงแค่ 3 รายเท่านั้น จากผู้ประท้วงทั้งหมด 20,000 คน ตอนแรกศาลตัดสินว่าการประท้วงที่นครซิดนีย์ผิดกฎหมาย ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะกลับคำตัดสิน 15 นาทีก่อนการประท้วงมีกำหนดเริ่มต้น โดยอนุญาตให้คนรวมตัวกันได้ 5 พันคน
แต่ในขณะที่ออสเตรเลียควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไว้ได้แล้ว แต่สหราชอาณาจักรมีผู้เสียชีวิตเลย 4 หมื่นรายแล้ว ที่จัตุรัสรัฐสภาบริเวณใจกลางกรุงลอนดอนมีผู้ประท้วงไปรวมตัวกันหลายพันคนแล้ว โดยส่วนใหญ่ใส่ผ้าคลุมหน้า และมีหลายคนที่ใส่ถุงมือด้วย ป้ายประท้วงหลายชิ้นเป็นการสื่อไปถึงสถานการณ์โควิด-19 อาทิ “มันมีไวรัสที่อันตรายกว่าโควิด-19 เรียกว่าการเหยียดเชื้อชาติ”
นางพาเทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกว่า เธอเข้าใจความคิดของคน และเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงอยากประท้วง แต่ “เราต้องให้ความสำคัญกับสาธารณสุขก่อน”
“เราอยู่ท่ามกลางการระบาดใหญ่ทั่วสหราชอาณาจักร ไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสอันตรายถึงชีวิต ฉันอยากจะพูดกับคนทั่วประเทศที่อยากประท้วงว่า ได้โปรด อย่าเลย”
เมื่อคืนวันศุกร์ผู้จัดการประท้วง ‘Black Lives Matter’ ในเบลฟาสต์และลอนดอนเดอร์รีในไอร์แลนด์เหนือบอกว่าจะจัดการชุมนุมแบบเว้นระยะห่างทางสังคม และในขณะนี้ ตำรวจไอร์แลนด์เหนือบอกว่าพวกเขาได้ตั้งด่านเพื่อหยุดรถผู้ที่จะเดินทางไปประท้วง และเตือนให้กลับบ้าน หรือไม่ก็จะโดนโทษปรับ
ซาราห์ จาร์วิส แพทย์หญิงจากสหราชอาณาจักร เตือนว่า สหราชอาณาจักรกำลัง “ทรงตัวอยู่บนคมมีด” และผู้ที่ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงควรป้องกันตัวเองให้ดี
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการประท้วงจนกลายเป็นความรุนแรง
การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน จากการใช้ความรุนแรงจับกุมโดยตำรวจผิวขาว ทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วสหรัฐฯ และมีการประกาศเคอร์ฟิวในเกือบ 40 เมือง
การชุมนุมส่วนใหญ่เริ่มต้นอย่างสันติ แต่หลายกรณีก็ทวีความรุนแรงขึ้น โดยผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ จุดไฟเผารถตำรวจ เข้าทำลายอาคาร และปล้นร้านรวง และขณะนี้ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์ชาติ 5,000 นาย ไปยัง 15 รัฐทั่วประเทศรวมถึงกรุงวอชิงตันดีซี
ผู้เชี่ยวชาญเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับเหตุจลาจลในอังกฤษเมื่อปี 2011 เมื่อการประท้วงอย่างสันติเรื่องชายคนหนึ่งที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตกลายเป็นการก่อจลาจลนาน 4 วัน ซึ่งมีทั้งการปล้นร้านรวงและจุดไฟเผาตึกอาคารไปทั่ว
เหตุใดการประท้วงถึงขยายเป็นวงกว้างรวดเร็ว และทำไมหลายกรณีจึงกลายเป็นเหตุรุนแรง
ศ. คลิฟฟอร์ด สต็อตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมวลชนและการควบคุมฝูงชนของตำรวจ จากมหาวิทยาลัยคีล ในอังกฤษ บอกว่า เหตุการณ์เช่นการเสียชีวิตของนายฟลอยด์เป็นตัวจุดความรุนแรง ได้เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของประสบการณ์ร่วมของคนหมู่มากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจและกลุ่มคนผิวสี
ศ.สต็อตต์ ศึกษาเหตุการณ์จลาจลในอังกฤษเมื่อปี 2011 อย่างลงลึก เขาพบว่าการจลาจลขยายวงกว้างไปหลายเมือง เพราะผู้ประท้วงเมืองอื่น ๆ รู้สึกถึงความ เป็นพวกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ หรือความรู้สึกเกลียดตำรวจ
ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ดูเหมือนว่าตำรวจรับมือไม่ไหว ผู้ก่อจลาจลในที่ต่าง ๆ ก็รู้สึกมีพลังอำนาจขึ้นมาที่จะออกไปตามท้องถนนบ้าง
การตอบโต้ของตำรวจเป็นปัจจัยสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การประท้วงรุนแรงมักจะไม่เกิดในที่ ๆ ตำรวจมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน แต่ที่สำคัญเช่นกันคือตำรวจรับมือและตอบโต้ผู้ประท้วงอย่างไรขณะเกิดเหตุ
“การจลาจลเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ หมายความว่าตำรวจบริหารจัดการฝูงชนอย่างไรนั่นเอง” ศ.สต็อตต์ กล่าว
ยกตัวอย่างเช่น ในการประท้วงขนาดใหญ่ ความตึงเครียดอาจเริ่มจากการปะทะของคนไม่กี่คนเท่านั้นกับตำรวจ
อย่างไรก็ดี ศ.สต็อตต์ บอกว่าตำรวจตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงแบบรวม ๆ ไม่ได้เป็นรายบุคคล และหากคนรู้สึกว่าตำรวจใช้ความรุนแรงเกินควร ก็จะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งฝ่ายเป็น “พวกเรากับพวกมัน” มากขึ้น
นี่อาจทำให้คนรู้สึกว่าสมเหตุสมผลที่จะใช้ความรุนแรงโต้กลับเช่นกัน
ศาสตราจารย์ดาร์แนล ฮันต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือ UCLA บอกว่า การที่ทางการส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติไปควบคุมฝูงชน ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วยิ่งแย่เข้าไปใหญ่นี่เป็นรูปแบบที่เห็นมาแล้วทั่วโลก อย่างเช่นที่ฮ่องกงก็เริ่มด้วยการประท้วงอย่างสันติเช่นกัน
ขึ้นอยู่กับประเด็นที่คุณกำลังต่อสู้
จิตวิทยาด้านศีลธรรมอาจอธิบายได้ว่าทำไมการประท้วงอย่างสันติถึงได้กลายเป็นรุนแรง
มาร์ลูน มูจิแมน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การ ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ ในรัฐเท็กซัส บอกว่า ศีลธรรมส่วนบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญว่าแต่ละคนมองตัวเองอย่างไร ดังนั้น “เมื่อเราเห็นว่ามีบางอย่างที่ผิดศีลธรรม จะเกิดความรู้สึกรุนแรง เพราะเราเห็นว่าความเข้าใจของเราเรื่องศีลธรรมต้องได้รับการปกป้อง”
และความรู้สึกนี้ก็ทำให้คนมองข้ามเรื่องการรักษาความสงบไป ยกตัวอย่างเช่น หากคนเชื่อว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดศีลธรรม คน ๆ นั้นก็อาจจะรู้สึกว่าโอเคที่จะวางระเบิดคลินิกทำแท้ง
การปล้นร้านหรือทำลายอาคารอย่างมีนัยยะ
ศ.สต็อตต์ บอกว่า เป็นเรื่องง่ายที่คนเราจะตั้งสมมติฐานว่า พฤติกรรมคนก่อจลาจลทั้งหุนหันและไม่มีที่มาที่ไป แต่จริง ๆ แล้วการก่อจลาจลเป็นไปอย่างมีระบบโครงสร้าง เพราะสิ่งที่ทำมีความหมายต่อผู้ร่วมประท้วง
อ่านข่าวเพิ่มเติม : ผ่อนปรนระยะ 3 เริ่มแล้ว (1มิ.ย.) ความเชื่อแปลกๆ จากทั่วโลก
อ้างอิง : บีบีซี