พายุโซนร้อน “นูรี”

พายุโซนร้อน นูรี

พายุโซนร้อน “นูรี”

พายุโซนร้อน “นูรี” เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ (14 มิ.ย. 63) พายุโซนร้อน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 90 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 21.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.7 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กม/ชม พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 18 กม/ชม คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนในวันนี้ (14 มิ.ย. 63)

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบน ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ทำความรู้จัก พายุโซนร้อน นูรี(NURI)

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือน เกี่ยวกับ พายุโซนร้อน “นูรี” (Nuri) ที่คาดว่าจะกระทบทุกภาคของประเทศไทยในระหว่างวันที่ 13-16 มิ.ย. นี้ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักพายุโซนร้อนลูกนี้กัน

พายุโซนร้อน หรือ Tropical Storm คือพายุที่ก่อตัวขึ้นเหนือน่านน้ำทะเลในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร มีความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง 64 ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100 กิโลเมตร เป็นพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ระยะกลางที่มีกำลังมากกว่าพายุดีเปรสชัน (Tropical Depression) แต่ยังไม่พัฒนาจนมีระดับความรุนแรงเทียบเท่าพายุไต้ฝุ่น ไซโคลน หรือเฮอร์ริเคน

พายุโซนร้อนก่อตัวขึ้นเหนือผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 26.5 องศาเซลเซียส เป็นพายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก มีรูปทรงของพายุหมุน แต่ยังไม่มีกำลังมากพอที่ก่อให้เกิดตาพายุที่ชัดเจนเหมือนพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน ความร้อนและความชื้นในอากาศเหนือน่านน้ำในมหาสมุทร

จึงเป็นปัจจัยหลักในการก่อตัวและทวีกำลังแรงขึ้นของพายุโซนร้อน และเมื่อพายุโซนร้อนเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งจึงมักอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนหรือพายุดีเปรสชันก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด เนื่องจากปะทะเข้ากับอุณหภูมิในอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้รับพลังงานจากความร้อนและความชื้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากการก่อตัวขึ้นของพายุโซนร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรที่ห่างไกลชายฝั่ง พายุดังกล่าวมีโอกาสที่จะทวีกำลังแรงขึ้น จนสามารถพัฒนาไปเป็นพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนได้ในที่สุด

ที่มาของชื่อพายุ

สำหรับชื่อพายุนั้น มาจากการตั้งชื่อโดยกรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศ หรือหน่วยงานในแต่ละภูมิภาคที่จะสลับกันตั้งชื่อให้พายุอย่างเป็นทางการเพื่อสะดวกในการเรียกและเตือนภัย โดยจะตั้งชื่อเมื่อพายุดังกล่าวมีความเร็วลมสูงสุดเกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกลายเป็น “พายุโซนร้อน

โดยในแถบพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ ประเทศไทยร่วมกับอีก 13 ประเทศสมาชิกในคณะกรรมการไต้ฝุ่นและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม จะร่วมกันเสนอและตั้งชื่อพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละปี

ชื่อ นูรี (Nuri) นั้นเป็นภาษามลายู (ภาษาราชการของมาเลเซีย) แปลว่า นกชนิดหนึ่งในตระกูลนกแก้ว  ในอดีตเคยใช้ชื่อนี้เรียกพายุมาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2551 และในปี 2557 ซึ่งเป็นพายุที่มีความแรงในระดับพายุไต้ฝุ่น แต่ในปีนี้ (2563) พายุ “นูรี” ได้เริ่มก่อตัวในทะเลฟิลิปปินส์ ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้และเพิ่มความแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันและพายุโซนร้อน

ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาระบุว่า ขณะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะฮ่องกงวันนี้ (13 มิ.ย.) ความเร็วลมสูงสุดของพายุ “นูรี” อยู่ที่ 55.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง และคาดว่าจะเพิ่มความเร็วยิ่งขึ้น และทำให้เกิดฝนตกหนักทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮ่องกงในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.)

ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง “พายุโซนร้อนนูรี” ฉบับที่ 4 เช้าวันนี้ (13 มิ.ย.) เตือนว่า พายุโซนร้อน “นูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก กําลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 13-14 มิ.ย. 2563 ลักษณะเช่นนี้ทําให้ในช่วงวันที่ 13-16 มิถุนายน 2563

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยจะมีกําลังแรงขึ้น ส่งผลทําให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงขอให้ประชาชน บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ทั้งนี้ แม้พายุโซนร้อนจะมีความรุนแรงไม่มากเท่าพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน แต่พายุโซนร้อนก็สามารถสร้างความเสียหายในบริเวณกว้างจากปริมาณฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ราบลุ่มและบริเวณที่ราบสูงตามเทือกเขาต่าง ๆ

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

วันที่ 13 มิถุนายน 2563

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และอุบลราชธานี
  • ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

วันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2563

  • ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร ศรีสะเกษและอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง : จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

วันที่ 16 มิถุนายน 2563

  • ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร พิจิตรและเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม
  • ภาคกลาง : จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม
  • ภาคตะวันออก : จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา

บทความที่น่าสนใจ : ลิซ่า “Blackpink” ถูกอดีตผู้จัดการโกงเงิน

บทความที่น่าสนใจ : 50 ดาวรุ่งที่น่าจับตามองในปี 2020